ความสำคัญและคุณค่าของวรรณกรรม
วรรณกรรม มิใช่เป็นแต่เพียงสื่ออย่างเดียว หากสิ่งที่แฝงลึกลงไปในช่องไฟระหว่างตัวอักษร ยังสะท้อนให้เห็นถึงความตื้นลึกหนาบางทางภูมิปัญญาของผู้เขียน และลึกลงไปในภูมิปัญญานั้นก็คือความจริงใจที่ผู้เขียนสะท้อนต่อตัวเองและต่อ ผู้อ่าน (พิทยา ว่องกุล. 2540 : 1) วรรณกรรมเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตมนุษย์ ชาติที่เจริญแล้วทุกชาติจะต้องมีวรรณกรรมเป็นของตัวเอง และวรรณกรรมจะมีมากหรือน้อย ดีหรือเลว ก็แล้วแต่ความเจริญงอกงามแห่งจิตใจของชนในชาตินั้น ๆ วรรณกรรมเป็นเครื่องชี้ให้รู้ว่า ชาติใดมีความเจริญทางวัฒนธรรมสูงแค่ไหนและยุคใดมีความเจริญสูงสุด ยุคใดมีความเสื่อมทรามลง เพราะฉะนั้นวรรณกรรมแต่ละชาติ จึงเป็นเครื่องชี้วัดได้ว่า ยุคใดจิตใจของประชาชนในชาติ มีความเจริญหรือเสื่อมอย่างไร
ด้วยเหตุนี้ วรรณกรรมจึงเป็นเครื่องมือสื่อสารความรู้สึกนึกคิดถ่ายทอดจิตนาการและ แสดงออกซึ่งศิลปะอันประณีตงดงาม การศึกษาหรืออ่านวรรณกรรมแต่ละเรื่องทำให้ผู้อ่านมองเห็นภาพสังคม วัฒนธรรม การเมือง และเศรษฐกิจ ของยุคสมัยที่ผู้ประพันธ์ได้สะท้อนผ่านมุมมองของตนออกมา รวมทั้งทำให้ผู้อ่านเข้าใจความรู้สึกนึกคิดของผู้คนที่มีต่อสภาพการณ์เหล่า นั้นด้วย
ดังนั้นวรรณกรรมจึงมีความสำคัญต่อมนุษย์แทบทุกด้านอาจกล่าวได้ ว่า สังคมมนุษย์ที่เจริญมีอารยธรรม และเทคโนโลยีในปัจจุบันนี้ ตั้งอยู่บนพื้นฐานของวรรณกรรมทั้งสิ้น วรรณกรรมต่างมี
บทบาท ความสำคัญ และอิทธิพลไม่มากก็น้อย ซึ่งคุณค่าเหล่านี้ได้มีผู้แสดงความคิดเห็นไว้หลากหลาย ดังนี้

เอ ร์มเชอร์ (Irmscher 1975 : 6-7 อ้างถึงในสิทธา พินิจภูวดล และนิตยา กาญจนะวรรณ. 2520 : 7-8) ได้กล่าวถึงอิทธิพลของวรรณกรรมที่มีต่อมนุษย์ดังนี้
1. จากตัวละครที่ปรากฏในวรรณกรรม ได้เปิดเผยให้ผู้อ่านเห็นความคิดจิตใจของมนุษย์ด้วยกัน ทั้งที่เหมือนกับคนทั่ว ๆ ไป และทั้งที่แตกต่างและมีปฏิกริยาต่อคนอื่น
2. จากการสร้างพฤติการณ์และสถานการณ์ในวรรณกรรม ทำให้ผู้อ่านได้เรียนรู้ว่า พฤติกรรมของคน ๆ หนึ่งย่อมเกี่ยวโยงไปถึงคนอื่น ๆ ด้วย บางครั้งพฤติกรรมของคนเพียงคนเดียว ก็มีพลังอำนาจผลักดันให้เกิดเหตุการณ์ที่เหลือวิสัยที่จะควบคุมได้ มีผลต่อตนเองและคนอื่น ๆ อีกหลายคน ซึ่งใคร ๆ ก็ควบคุมสถานการณ์ไม่ได้นอกจากนี้ยังทำให้ผู้อ่านแลเห็นพฤติกรรมต่าง ๆ ที่ต่อต้านและขัดแย้งตามมาด้วย
3. จากการสร้างฉากในวรรณกรรม โดยเฉพาะเมื่อผู้เขียนวาดภาพความเป็นไปในโลกซึ่งมีแต่ความกดดัน จะทำให้ผู้อ่านได้แลเห็นรายละเอียดต่าง ๆ ของชีวิต ผู้เขียนจะเลือกคัดจัดประเภทของประสบการณ์มาแยกแยะพิจารณาในวรรณกรรมของเขา เพื่อให้ผู้อ่านมีโอกาสนำประสบการณ์ของตนเองมาเทียบเคียงร่วมพิจารณาด้วย
4. จากรูปแบบและโครงสร้างของวรรณกรรม ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันในสากลว่าเป็นศิลปะนั้น ผู้อ่านไม่ว่าจะอ่านวรรณกรรมในรูปนวนิยาย บทละคร หรือบทประพันธ์อื่น ๆ ก็จะพบลักษณะของวรรณกรรมนั้น ๆ ลักษณะเฉพาะเหล่านั้น จะปรุงแต่งความคิดของผู้อ่านและกระตุ้นเตือนให้เกิดความรู้สึกนึกคิดอย่าง ลึกซึ้ง เป็นความรู้สึกนึกคิดของผู้อ่านจากวรรณกรรมที่ผู้แต่งสร้างขึ้นในรูปแบบต่าง ๆ และโครงสร้างต่าง ๆ กัน
5. จากภาษา สัญลักษณ์ และมโนภาพ ของวรรณกรรมได้สร้างความงามและความน่าเกลียดให้เกิดขึ้นเพื่อเทียบเคียงกัน วรรณกรรมจะกระตุ้นจินตนาการของผู้อ่านให้หวั่นไหวและมีการตอบสนองนักเขียน ที่ใช้ภาษาได้กระจ่างชัดจะถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิดในส่วนลึกของจิตใจมายัง ผู้อ่านได้อย่างยอดเยี่ยม ความงดงามของภาษาของกวีหรือนักเขียน จะเขย่าอารมณ์และความคิดของผู้อ่านให้ไหวสะเทือน ความหมายที่ลึกซึ้งของกวี ความผสมกลมกลืนของการใช้สัญญลักษณ์และการวาดมโนภาพล้วนแต่มีส่วนช่วยจรรโลง ใจผู้อ่านได้เป็นอย่างดี
6. จากท่วงทำนองเขียนในวรรณกรรม ซึ่งทำ ให้ผู้อ่านรู้จักลักษณะเฉพาะของกวีหรือนักเขียน แต่ละคนนั้นจะทำให้ผู้อ่านเกิดความสนุกตื่นเต้นไปกับบุคลิกลักาณะของกวีหรือ นักเขียนซึ่งไม่ซ้ำแบบกัน
7. จากความคิดในวรรณกรรม ผู้อ่านจะได้พบกระจกเงาใบมหึมาสะท้อนภาพประสบการณ์ ความฉลาดหลักแหลม และย่อโลกอันกว้างขวางมาวางไว้ตรงหน้า จะชี้ให้ผู้อ่านเห็นสาเหตุของปัญหาต่าง ๆ และการพยายามค้นหาวิธีที่ดีที่สุดมาแก้ปัญหาเหล่านั้น

ได้มี นักเขียนหลายคนที่ได้แสดงความคิดเห็น ทางด้านคุณค่าของวรรณกรรมไว้สอดคล้องกัน เช่น ผาสุก มุทรามธา (2517 : 43) กระแสร์ มาลยาภรณ์ (2522 : 23-27) สิทธา พินิจภูวดล , รื่นฤทัย สัจจพันธุ์ และเสาวลักษณ์ อนันตศาสนต์ (2524 : 4-5) สนิท ตั้งกวี (2528 : 242 – 244) สุภา ฟักข้อง (2530 : 22) และวันเนาว์ ผูเด็น (2537 : 14) ซึ่งได้กล่าวถึงคุณค่าของวรรณกรรมไว้ดังนี้
1. คุณค่าทางอารมณ์ หมายถึง แรงบันดาลใจที่เกิดขึ้นจากผู้ประพันธ์แล้วถ่ายโยงมายังผู้อ่าน ซึ่งผู้อ่านจะตีความวรรณกรรมนั้น ๆ ออกมาซึ่งอาจจะตรงหรือคล้ายกับผู้ประพันธ์ก็ได้ เช่น อารมณ์โศก อารมณ์รัก อารมณ์โกรธ เคียดแค้น เป็นต้น โดยวรรณกรรมจะเป็นเครื่องขัดเกลาอัธยาศัย และกล่อมเกลาอารมณ์ให้หายความหมักหมม คลายความกังวล และความหมกมุ่น หนุนจิตใจให้เกิดความผ่องแผ้วทำให้รู้สึกชื่นบาน และร่าเริงในชีวิต ทำให้หายจากความมีจิตใจที่คับแคบรู้ค่าความงามของธรรมชาติ ความมีระเบียบเรียบร้อย ความดี ความงาม และความจริงหรือสัจธรรม ที่แฝงอยู่กับความรื่นเริงบันเทิงใจ หรือการได้ร้องให้กับตัวเอกของเรื่องในหนังสือหรือหัวเราะกับคำพูดในหนังสือ นั้นมีผลดีทางด้านอารมณ์ ดังที่เจตนา นาควัชระ (2529 : 82) กล่าวว่า เราจะต้องไม่ลืมว่า วรรณกรรมมิใช่การสั่งสอนโดยตรง มิใช่การการโฆษณาชวนเชื่อ การปลุกสำนักเชิงสังคม อาจจะทำได้ดีที่สุดด้วยวิธีการของศิลปะก็ได้ เพราะการเปลี่ยนใจของมนุษย์นั้น คงไม่มีวิธีใดดีกว่าจับใจเขาเสียก่อนด้วยสุนทรียอารมณ์
2. คุณค่าทางปัญญา วรรณกรรมแทบทุกเรื่องผู้อ่านจะได้รับความคิด ความรู้เพิ่มขึ้นไม่มากก็น้อย มีผลให้สติปัญญาแตกฉานทั้งทางด้านวิทยาการ ความรู้รอบตัว ความรู้เท่าทันคน ความเห็นอกเห็นใจต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับตัวละครในเรื่องให้ข้อคิดต่อผู้อ่านขยายทัศนคติให้ กว้างขึ้น บางครั้งก็ทำให้ทัศนคติที่เคยผิดพลาดกลับกลายเป็นถูกต้อง เช่น เราเคยมีทัศนคติว่าคนยิวเป็นคนตระหนี่ เห็นแก่ตัว พาให้สังคมรังเกียจ ครั้นได้อ่านเรื่อง The Diary of a Young Girl แต่งโดย แอนน์ แฟร้งค์ (Anne Frank) (แปลเป็นภาษาไทย ชื่อ บันทึกลับของแอนน์ แฟร้งค์ โดยสังวรณ์ ไกรฤกษ์) หรือเรื่อง Child of the Holocaust แต่งโดย แจ็ค คูเปอร์ (Jack Kuper) (แปลเป็นภาษาไทย ชื่อ เสือกเกิดเป็นยิว โดยจำเนียร สิทธิดำรงค์) และเรื่อง Mon Ami Frederic แต่งโดย ฮันส์ ปีเตอร์ ไรช์เตอร์ (แปลเป็นภาษาไทยชื่อเฟรดคอริก เพื่อนรัก โดย งามพรรณ เวชชาชีวะ) เป็นต้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ถ่ายทอดโดยเด็กชาวยิว เมื่ออ่านแล้วเกิดความรู้สึกสงสารคนยิวที่กำลังถูกตามฆ่า ต้องพยายามหาทางเอาชีวิตรอด เกิดความรักและสงสารคนยิวในฐานะเป็นเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ทัศนคติเดิมที่มีต่อยิวก็เปลี่ยนแปลงไป
หรือผู้อ่านได้อ่านวรรณกรรม เรื่องสามก๊กและราชาธิราช จะให้รู้จักกลยุทรในการสงคราม กลอุบายต่าง ๆ เล่ห์เหลี่ยม นิสัยใจคอของคน และความคิดอันปราดเปรื่องของตัวละครบางตัว พร้อมกันนี้วรรณกรรมแทบทุกเรื่องจะแทรกสัจธรรมที่ผู้อ่านสามารถนำมาใช้ ประโยชน์ทำให้จิตใจสูงขึ้น หรือนำมาใช้ประพฤติปฏิบัติในชีวิตประจำวัน เช่น คำโคลงโลกนิติ ของกรมพระยาเดชาดิศร หรือเพลงยาวถวายโอวาท และสัวสดิศึกษา ของสุนทรภู่ เป็นต้น ดังคำกล่าวของเจตนา นาควัชระ (2529 : 88) กล่าวว่า หน้าที่ทางสังคมของวรรณกรรม อาจจะมิใช่การแก้ปัญหาทางสังคมในเชิงปฏิบัติ หรือการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมมนุษย์ในระยะสั้น แต่เป็นหน้าที่ของการให้แสงสว่างทางปัญญา
3. คุณค่าทางศีลธรรม วรรณกรรมเรื่องหนึ่ง ๆ อาจจะมีคติหรือแง่คิดอย่างหนึ่งแทรกไว้ อาจจะเป็นเนื้อเรื่องหรือเป็นคติคำสอนระหว่างบรรทัด ซึ่งวรรณกรรมแต่ละเรื่องให้แง่คิดไม่เหมือนกัน บางที่ผู้อ่านที่อ่านอย่างผิวเผิน จะตำหนิตัวละครในเรื่องนั้นว่า กระทำผิดศีลธรรมไม่ส่งเสริมให้คนมีศีลธรรม แต่ถ้าพิจารณาและติดตามต่อไปผู้อ่านก็จะพบว่า ใครก็ตามที่ไม่อยู่ในศีลธรรมก็จะต้องประสบความทุกข์ยาก ความล้มเหลว และความเกลียดชังจากสังคม อาจจะเป็นเพราะกรรมของแต่ละคน บางคนประกอบกรรมมา ต่างกรรมต่างวาระแต่อาจจะพบจุดจบในกรรมอันเดียวกันก็ได้ เช่น เรื่องพระลอเป็นวรรณกรรมสะเทือนอารมณ์ ซึ่งได้แทรกข้อคิดเกี่ยวกับความรัก และความรับผิดชอบในหน้าที่ ให้ผู้อ่านได้พิจารณา ถ้าบังเอิญมีเหตุการณ์ในชีวิตเกิดขึ้นพร้อม ๆ กันทั้งความรัก และความรับผิดชอบจะเลือกทางไหนพระลอได้เลือกความรักและประสบกับความยุ่งยาก จนสิ้นชีวิต เป็นตัวอย่างที่ไม่ต้องการให้ใครเอาอย่าง ซึ่งตามหลักการของวรรณกรรมนั้นในเรื่องของศีลธรรม สิ่งที่ผู้อ่านต้องนำมาคิดก็คือ เป็นศีลธรรมของคนกลุ่มใด ของใคร และสมัยใด เพราะศีลธรรมก็ต่างกันตามวาระยุคและสมัยของแต่ละสังคมด้วย เช่นผู้อ่านอาจจะโทษว่า พระลอ พระเพื่อน พระแพง ไม่ตั้งอยู่ในศีลธรรม ผู้อ่านก็ต้องพิจารณาหลาย ๆ ด้าน ทั้งในเรื่องของสังคม ค่านิยม บุคคล ฐานะ และทางแนวคิดและจุดประสงค์ของผู้แต่ง ว่าเพื่ออะไร
ส่วนวรรณกรรมที่ให้ คุณค่าทางศีลธรรมแก่ผู้อ่านที่เห็นได้ชัดเจนก็คือ วรรณกรรมศาสนา ได้แก่ เรื่องชาดกต่าง ๆ เช่น เวสสันดรชาดก สุวรรณสามชาดก นอกจากนั้นก็มีนิทานนิยายต่าง ๆ เช่น นิทานอีสป นวนิยายที่มุ่งสอนศีลธรรม เช่น กองทัพธรรม ใต้ร่มกาสาวพัสตร์ เป็นต้น หรือเรื่อง ไตรภูมิพระร่วง ของพระเจ้าลิไท พระปฐมสมโพธิกถา ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระปรมานุชิตชิโนรส เป็นต้น
4. คุณค่าทางวัฒนธรรม วรรณกรรมทำหน้าที่ผู้สืบต่อวัฒนธรรมของชาติจากคนรุ่นหนึ่งไปสู่คนอีกรุ่น หนึ่ง เป็นสายใยเชื่อมโยงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของคนในชาติ ในวรรณกรรมมักจะบ่งบอกคติของคนในชาติไว้ เช่น วรรณกรรมสมัยสุโขทัยจะทำให้เราทราบว่าคติของคนไทยสมัยสุโขทัยนิยมการทำบุญ ให้ทาน การสาปแช่งคนบาปคนผิด มักจะสาปแช่งมิให้พระสงฆ์รับบิณฑบาตรจากบุคคลผู้นั้น ดังนี้เป็นต้น วรรณกรรมของชาติมักจะเล่าถึงประเพณีนิยม คติชีวิต การใช้ถ้อยคำภาษา การดำรงชีวิตประจำวัน การแก้ปัญหาสังคม อาหารการกิน ที่อยู่อาศัย เสื้อผ้า เป็นต้น เพื่อให้คนรุ่นหลังมีความรู้เกี่ยวกับคนรุ่นก่อนๆและเข้าใจวิถีชีวิตของคน รุ่นก่อน เข้าใจเหตุผลว่าทำไมคนรุ่นก่อนๆจึงคิดเช่นนั้น ทำเช่นนั้น ก่อให้เกิดความเข้าใจอันดีต่อกัน ดังเช่น วรรณกรรมเรื่องอิเหนา พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 2 ช่วยให้ผู้อ่านได้ทราบถึงพระราชพิธีต่างๆ เช่น พระราชพิธีโสกันต์ เป็นต้น หรือ เรื่องขุนช้างขุนแผน ทำให้ผู้อ่านเข้าใจประเพณีการเกิด การโกนจุก การบวช การแต่งงาน การเผาศพ เป็นต้น อย่างไรก็ตามคุณค่าทางวัฒนธรรมนี้เป็นเรื่องเฉพาะของแต่ละสังคม ถ้าสามารถสร้างให้เกิดความรู้สึกที่เป็นสากล คือมีอุดมคติเป็นกลาง สามารถเป็นที่ยึดถือของทุกสังคม ก็นับเป็นคุณค่าทางวัฒนธรรมที่ถือเป็นความสามารถอย่างยิ่ง และที่สำคัญวัฒนธรรมอยู่ได้ส่วนหนึ่งก็เพราะมีวรรณกรรมบันทึกไว้เป็นหลักฐาน กล่าวอีกนัยหนึ่ง จะโดยรู้สึกตนหรือไม่ก็ตาม นักประพันธ์ย่อมจะแต่งเรื่องที่กล่าวถึงวัฒนธรรมของตน ( และอาจจะของผู้อื่นด้วย ) และในบางครั้งบางคราว เมื่อแปลหรือเรียบเรียงหรือเอาเค้าเดิมมาจากวรรณกรรมต่างประเทศ ก็จะกล่าวถึงวัฒนธรรมของต่างประเทศเท่าที่ตนรู้และ
เข้าใจด้วย ผู้อ่านก็จะเกิดความรื่นรมย์และชื่นชมหรือแปลกประหลาดไปกับวัฒนธรรมนั้น ๆ ด้วย
5. คุณค่าทางประวัติศาสตร์ การบันทึกทางประวัติศาสตร์ที่มุ่งจดแต่ข้อเท็จจริงไม่ช้าก็อาจจะเบื่อหน่าย หลงลืมได้ เช่น เรื่องราวเกี่ยวกับสงครามยุทธหัตถีระหว่างสมเด็จพระนเรศวรกับพระมหาอุปราช ในประวัติศาสตร์อาจจะจดบันทึกไว้เพียงไม่กี่บรรทัด ผู้อ่านก็อาจจะอ่านข้าม ๆไปโดยไม่ทันสังเกตและจดจำ ถ้าได้อ่านลิลิตตะเลงพ่ายจะจำเรื่องยุทธหัตถีได้ดีขึ้นและยังเห็นความสำคัญ ของเหตุการณ์บ้านเมืองในตอนนั้นอีกด้วย ทั้งนี้เพราะผู้อ่านได้รับรสแห่งความสุขบันนเทิงใจในขณะที่อ่านลิลิตตะเลง พ่าย หรือวรรณกรรมประวัติศาสตร์อื่น ๆ ที่นำเรื่องราวทางประวัติศาสตร์มาใช้เป็นวัตถุดิบในการแต่งด้วย อย่างไรก็ตามวรรณกรรมดังกล่าวมิใช้เอกสารวิชาการสำหรับอ้างอิงทางประวัติ ศาสตร์ ตรงข้ามประวัติศาสตร์ต่างหากที่เป็นเอกสารอ้างอิงของวรรณกรรม ดังนั้น การใช้วรรณกรรมเป็นเอกสารอ้างอิงทางประวัติประวัติศาสตร์จึงอาจาคลาดเคลื่อน ได้ อย่างไรก็ตาม วรรณกรรมถือเป็นกระจกเงาสะท้อนภาพในอดีตของแต่ละชาติได้อย่างดีที่สุด เรื่องราวที่เป็นประวัติศาสตร์หลายเรื่อง ศึกษาได้จากวรรณกรรมไม่มากก็น้อย เช่น สงครามทาสระหว่างอเมริกาเหนือ และใต้ สามารถอ่านได้จากเรื่อง Gone With the Wind แต่งโดยมากาเร็ท มิทเชล (Margaret Mittchell) ( แปลเป็นภาษาไทย ชื่อวิมานลอย โดย รอย โรจนานนท์ ) หรือ เรื่อง Uncle Tom ‘ s Cabin แต่งโดย แฮเรียท บีชอร์ สโตร์
( Harriet Beecher Stowe ) (แปลเป็นภาษาไทยชื่อ กระท่อมน้อยของลุงทอม โดย อ. สนิทวงศ์) หรือ การบุกเบิกและสร้างชาติของอเมริกาจากเรื่องหนังสือชุด Little House Series แต่งโดย ลอรา อิงกัลล์ส์ ไวล์เดอร์ (แปลเป็นภาษาไทย เป็นหนังสือชุดบ้านเล็ก โดย สุคนธรส มี 7 เล่ม หรือ 8 ตอน ด้วยกัน คือ บ้านเล็กในป่าใหญ่ และบ้านเล็กในทุ่งกว้าง พิมพ์รวมเป็นเล่มเดียวกัน เด็กชายชาวนา บ้านเล็กริมห้วย ริมทะเลสาบสีเงิน ฤดูหนาวอันแสนนาน เมืองเล็กในทุ่งกว้าง และปีทองอันแสนสุข) หรือ เรื่อง เรื่องสี่แผ่นดิน ของ ม.ร.ว. ศึกฤทธิ์ ปราโมช ซึ่งเป็นวรรณกรรมที่ใช้เหตุการณ์ของประเทศไทย ตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวลงมาจนถึงสิ้นแผ่นดินพระ เจ้าอยู่หัวอนันทมหิดล พร้อมกันนี้ผู้เขียนยังให้ภาพที่ผู้อ่านเข้าใจถึง เรื่องราวของพระบรมมหาราชวังเริ่มตั้งแต่ประตูชั้นนอก ชั้นกลาง ชั้นใน ตำหนักเจ้านาย ที่อยู่ของข้าหลวง จนกระทั้งถึงพระราชมณเฑียร ชีวิตของชาววังนับตั้งแต่พระบรมวงศ์ถึงคนสามัญ การแต่งกาย ความเป็นอยู่ ธรรมเนียม การศึกษาอบรม ความสนุกสนาน และการละเล่น นอกจากนั้นได้กล่าวถึงชีวิตชนชั้นสูงนอกราชสำนักด้วย คือ พระยา
คุณหลวง และเศรษฐี
6. คุณค่าทางจิตนาการ เป็นการสร้างความรู้สึกนึกคิดที่ลึกซึ้ง จิตนาการต่างกับอารมณ์ เพราะอารมณ์คือ ความรู้สึก ส่วนจิตนาการ คือ ความคิด เป็นการลับสมอง ทำให้เกิดความคิดริเริ่ม ประดิษฐกรรมใหม่ ขึ้นมาก็ได้ จิตนาการจะทำให้ผู้อ่านเป็นผู้มองเห็นการณ์ไกล จะทำสิ่งใดก็ได้ทำด้วยความรอบคอบ โอกาสจะผิดพลาดมีน้อย นอกจากนั้นจิตนาการเป็นความคิด ฝันไปไกลจากสภาพที่เป็นอยู่ในขณะนั้น อาจจะเป็นความคิดถึงสิ่งที่ล่วงเลยมานานแล้วในอดีต หรือสิ่งที่ยังไม่เคยเกิดขึ้นเลย โดยหวังว่าอาจจะเกิดขึ้นในอนาคตก็ได้ เช่น วรรณกรรมพระอภัยมณี สุนทรภู่ผู้แต่งนั้นเป็นกวีที่มีจิตนาการ
กว้างไกล มาก ได้ใฝ่ฝันเห็นภาพการนำฟางมาผูกเป็นเรือสำเภาใช้ในการเดินทางในมหาสมุทรบนยอด คลื่น เป็นต้น ซึ่งในปัจจุบันนี้เรือที่ทำด้วยวัสดุน้ำหนักเบาอย่างฟางได้เกิดมีจริงขึ้น แล้วรวมทั้งเรือเร็วที่แล่นได้บนยอดคลื่นหรือบนผิวน้ำด้วย
7. คุณค่าทางทักษะเชิงวิจารณ์ การอ่านมากเป็นการเพิ่มพูนความรู้ความคิด และประสบการณ์ให้แก่ชีวิต คนที่มีความรู้แคบมีความคิดตื้น ๆ และประสบการในชีวิตเพียงเล็กน้อย มักจะถูกเรียกว่า คนโง่ ส่วนคนที่มีความรู้มากแต่ไม่รู้จักวิเคราะห์วิจารณ์นั้นอาจจะหลงผิดทำผิดได้ วรรณกรรมเป็นสิ่งยั่วยุให้ผู้อ่านใช้ความคิดนึกตรึกตรองตัดสินสิ่งใดดีหรือ ไม่ดี เช่น พฤติกรรมของอิเหนาซึ่งเป็นนักรบที่เก่งแต่เจ้าชู้มีมเหสีถึง 10 องค์ นั้นเป็นสิ่งที่ดีหรือไม่ดี มีเหตุผลอะไรบ้างสนับสนุนความคิด หรือเรื่องขุนช้างขุนแผน ซึ่งผู้อ่านมีความเชื่อว่าขุนช้างเลวจริงหรือไม่ สมัยนี้อาจต้องถามตัวเองว่าขุนช้างเลวนั้นเลวอย่างไร และอาจเริ่มเห็นใจขุนช้างจนต้องอ่านใหม่อีกครั้ง คือ เริ่มคิดวิจารณ์แล้ว เป็นการฝึกฝนการใช้วิจารณญาณที่ก่อให้เกิดทักษะ หรือความชำนาญในเชิงวิจารณ์ วิจารณญาณเป็นสิ่งจำเป็นมากสำหรับการดำรงชีวิตอยู่ในโลกปัจจุบันนี้ อย่างน้อยผู้อ่านเมื่ออ่านหนังสือแล้ว อาจจะพูดถึง ตัวละคร ชีวิต พฤติกรรม เหตุการณ์ เป็นต้น ของเรื่องนั้น ๆ ตามความคิดเห็นของตนเอง
8. คุณค่าทางการใช้ภาษา เพราะการเขียนเป็นการถ่ายทอดความคิด เป็นการใช้ภาษาเพื่อการสื่อสาร เพื่อรสชาติทางภาษา เพื่อจูงใจเพื่อความติดใจและประทับใจ ทำให้ผู้อ่านสามารถสังเกต จดจำนำไปใช้ก่อให้เกิดการใช้ภาษาที่ดี เพราะการเห็นแบบอย่างทั้งที่ดี และบกพร่องทั้งการใช้คำ การใช้ประโยค การใช้โวหาร เป็นต้น ได้แก่ การใช้โวหารของยาขอบในวรรณกรรมเรื่อง ผู้ชนะสิบทิศ เช่น”ข้าพเจ้ารักตัวเองยิ่งนัก แต่ข้าพเจ้ารักตะละแม่ยิ่งกว่าตัวเอง แต่ทั้งตัวเองและตะละแม่ ข้าพเจ้าก็หาได้รักเท่าตองอูไม่”
9. คุณค่าที่เป็นแรงบันดาลใจให้เกิดการสร้างวรรณกรรม และศิลปกรรมด้านต่าง ๆ วรรณกรรมที่ผู้เขียนเผยแพร่ออกไปบ่อยครั้งที่สร้างความประทับใจ และแรงบันดาลใจ ให้เกิดผลงานอื่น ๆ เพิ่มขึ้น เช่น ทางด้านวรรณกรรม ของอกาธา คริสตี้ (Agatha Christie) ซึ่งได้รับฉายาว่าเป็น “ราชินีแห่งฆาตกรรม” ได้ผลิตงานประเภทสืบสวนเป็นร้อย ๆ เรื่อง โดยใช้ แอร์คูล์ บัวโรต์ เป็นนักสืบที่มีคนรู้จักกันทั่วโลก และในเรื่องสุดท้ายที่แอร์คูล บัวโรต์ เสียชีวิตในเรื่อง Cirtain ในปี ค.ศ. 1575 หนังสือพิมพ์นิวยอร์คไทม์ ของอเมริกาได้ลงข่าวไว้อาลัยในหน้าหนึ่ง ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่เคยมี และจนบัดนี้ก็ยังไม่มีตัวละครในนวนิยายอื่นใดที่ได้รับการเชิดชูเกียรติถึง ระดับเช่นนี้ อกาธา คริสตี้ ได้สร้างผลงานต่าง ๆ อันเกิดจากได้รับความประทับใจจากเรื่องนักสืบชุดเชอร์ล็อค โฮล์มส์ (Sherlock Holmes) ซึ่งเป็นผลงานของ เซอร์อาร์เธอร์ โคนัน คอยล์ (Sir Arthur Conan Doyle) และปัจจุบันเชอร์ล็อค โฮล์มส์ ก็ยังคงเป็นตัวละครที่มีผู้รู้จักกันทั่วโลก มากกว่าตัวละครใด ๆ เท่าที่เคยเขียนขึ้นมา ทั้งยังเป็นตัวละครที่ถูกนักเขียนคนอื่น ๆ เขียนลอกเลียนแบบมากที่สุดในโลกด้วย
หรือภาพวาดของจักรพันธุ์ โปษยกฤต ส่วนมากจะได้แรงบันดาลใจจากวรรณคดีไทย เช่น เรื่องขุนช้าง – ขุนแผน เป็นต้น หรือผลงานเพลงด้านคำร้องของแก้ว อัจฉริยะกุล เช่น พรานล่อเนื้อ
ยูวกระ สันต์เมฆ ก็ได้แรงบันดาลใจมาจากบทกวีของศรีปราชญ์ หรือเพลงรักเพียงใจ ของชอุ่ม บัญจพรรด์ ก็ได้แรงบันดาลใจมาจากบทกวีของศรีปราชญ์เช่นกัน
อุดม หนูทอง (2523 : 57) กล่าวเสริมว่า วรรณกรรม (โดยเฉพาะวรรณคดี) เป็นหนังสือที่ได้ชื่อว่าบรรจุไว้ด้วยถ้อยคำภาษาที่ประณีตที่สุด ตรึงใจและแหลมคมที่สุด อาจใช้ภาษาที่เป็นภาษาชนิดพิเศษ คำพ้นสมัย สร้างศัพท์ใหม่ แผลงคำเอาตามใจชอบของนักประพันธ์หรือกวี ใช้คำศัพท์ท้องถิ่นหรือพื้นเมือง เป็นต้น สิ่งเหล่านี้เป็นการเพิ่มพูนความรู้ทางภาษาให้แก่ผู้อ่านทั้งสิ้น โดยเฉพาะทางด้านคำศัพท์แล้ว นับว่ามีคุณค่าเอนกอนันต์ ตัวอย่างจากเรื่องลิลิตตะเลงพ่าย เพียงเรื่องเดียวหากศึกษาถ้อยคำภาษาโดยละเอียดถ่องแท้ก็ทำให้เกิดความแตกฉาน ในเรื่องภาษาขึ้นได้มาก ความรู้ทางภาษาที่ได้จากการอ่านวรรณกรรม โดยเฉพาะวรรณคดี จะส่งผลต่อการศึกษาวรรณคดีในระดับที่สูงหรือยากยิ่ง ๆ ขึ้นไป ทั้งนี้เพราะภาษาในวรรณคดีมีหลายระดับ กาพย์กลอนของสุนทรภู่เป็นระดับหนึ่ง นิราศนรินทร์ระดับหนึ่ง ตะเลงพ่ายระดับหนึ่ง และยวนพ่ายก็เป็นอีกระดับหนึ่ง ความรู้ทางภาษาจากวรรณคดีที่ใช้ภาษาอย่างง่าย ๆ ย่อมเป็นปัจจัยที่สร้างภูมิปัญยาให้อ่านหนังสือที่หนัก ๆ ขึ้นได้เรื่อยไปโดยไม่มีขอบเขต

ใส่ความเห็น